มงคลชีวิต ข้อที่ 34 ทำนิพพานให้แจ้ง (มงคลชีวิต 38 ประการ) เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จในชีวิต

 ""มีที่ไหนในโลกนี้บ้าง ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง_ไม่มี

เจ้าชายสิทธัตถะทำไมจึงออกบวช_จะหาที่ที่ทุกข์เข้าไปไม่ถึง

แล้วพบไหม_พบแล้ว

อยู่ที่ใด_นิพพาน

มีใครตามพระองค์ไปได้บ้างไหม_มากมาย

แล้วนิพพานอยู่ที่ไหน_นั่นซิ จึงต้องมาศึกษากัน""


 



นิ พ พ า น คื อ อ ะ ไ ร ?


นิพพาน มีคำแปลได้หลายอย่าง เช่น


- แปลว่า ความดับ ความสูญ คือดับกิเลส ดับทุกข์ สูญจากกิเลส สูญจากทุกข์


- แปลว่า ความพ้น คือพ้นทุกข์ พ้นจากภพสาม


นิพพาน เป็นที่ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายเข้าไปไม่ถึง อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีแก่เจ็บตาย เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นบรมสุข เกิดขึ้นด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรม มีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงนิพพานไว้หลายแห่ง อาทิเช่น


“นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพาน สุขอย่างยิ่ง” ม. ม. ๑๓/๒๘๗/๒๘๑


“ความเกิดแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้ นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ” ขุ. จู. ๓๐/๖๕๙/๓๑๕


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์” ขุ. อุ. ๒๕/๑๕๘/๒๐๖


“โลกนี้และโลกหน้า เราผู้รู้อยู่ ประกาศดีแล้ว เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งสรรพโลก ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอันมัจจุถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม กระแสแห่งมารอันลามก เราตัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้ปราศจากความเหิมแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ ปรารถนาถึงธรรมอันเป็นแดนเกษมเถิด” ม. มูล. ๑๒/๓๙๑/๔๒๑


“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวนมากก็เหมือนกัน ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุ ย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น แม้ข้อที่ภิกษุจำนวนมาก ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุ ย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้ เป็นข้อที่ ๕ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว พากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้ ฯ”   วิ. จุลฺล. ภาค ๒  ๗/๔๖๑/๒๒๗


“นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจากธุลี ปลอดโปร่ง เป็นที่ที่ความทุกข์ดับไป” ขุ. เถร. ๒๖/๓๐๙/๓๐๕


ทหารเมื่ออยู่ในหลุมหลบภัย ย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรูฉันใด ผู้ที่มีใจจรดนิ่งอยู่ในนิพพาน ก็ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวงฉันนั้น


ป ร ะ เ ภ ท ข อ ง นิ พ พ า น


นิพพานมีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ


๑. สอุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานเป็น ทุกคนที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์ สามารถเข้าถึงนิพพานนี้ได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็นๆ อยู่เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกต่อไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิพพานเป็นนี้ได้ เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้


นิพพานเป็น เป็นเหมือนหลุมหลบภัยในตัว เรามีทุกข์โศกโรคภัยใดๆ พอเอาใจจรดเข้าไปในนิพพาน ความทุกข์ก็จะหลุดไปหมด จะตามไปรังควาน ไปบีบคั้นใจเราไม่ได้ พระอรหันต์มีใจจรดนิ่งในนิพพานตลอดเวลา จึงไม่มีทุกข์อีกเลย


๒. อนุปาทิเสสนิพพาน เรียกว่า นิพพานตาย เป็นเหตุว่างนอกภพสาม ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เมื่อเบญจขันธ์ดับ (กายเนื้อแตกทำลายลง) ก็จะเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานนี้


ผู้ ที่ ส า ม า ร ถ ท ำ นิ พ พ า น ใ ห้ แ จ้ ง ไ ด้


ผู้ที่จะทำนิพพานให้แจ้งได้ก็คือ พระอริยบุคคลทุกระดับ ทั้งพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี และพระโสดาบัน รวมทั้งโคตรภูบุคคล


บางท่านอาจนึกสงสัยว่า ก็เห็นบอกว่า ผู้ละกิเลสได้แล้วจึงจะเข้านิพพานได้ แล้วตอนนี้มาบอกว่า โคตรภูบุคคลซึ่งยังไม่ได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ก็เข้านิพพานได้ จะไม่เป็นการขัดกันเองหรือ


คำตอบคือ ไม่ขัดกัน เพราะโคตรภูบุคคลนั้น เมื่อเอาใจจรดเข้าพระนิพพาน ขณะนั้นก็หมดทุกข์ กิเลสทำอะไรไม่ได้ แต่ทว่าใจยังจรดอยู่ในนิพพานได้ไม่ตลอดเวลา เมื่อไหร่ใจถอนออกมาก็ยังต้องมีทุกข์อยู่ เหมือนตัวของเรา ถ้าหากเป็นแขกรับเชิญไปเที่ยวพักผ่อนยังปราสาทใหญ่ ระหว่างที่พักอยู่ในนั้นก็มีความสุขสบาย แต่ก็อยู่ได้ชั่วคราวเพราะยังไม่ได้เป็นเจ้าของเอง เมื่อไหร่ครบกำหนดกลับ ก็ต้องออกจากปราสาทมาสู้เหตุการณ์ภายนอกใหม่


โ ค ต ร ภู ญ า ณ เ ห็ น นิ พ พ า น ไ ด้ แ ต่ ยั ง ตั ด กิ เ ล ส ไ ม่ ไ ด้


“ถึงแม้ว่า โคตรภูญาณจะเห็นนิพพานก่อนกว่ามรรคก็จริง ถึงกระนั้นก็ไม่เรียกว่า ทัสสนะ เพราะได้แต่เห็น แต่ไม่มีการละกิเลสอันเป็นกิจที่ต้องทำ” สารัตถทีปนี อรรถกถาสังยุตตนิกาย เล่ม ๓ หน้า ๑๑๕


โ ค ต ร ภู ญ า ณ ล ะ กิ เ ล ส ไ ด้ ชั่ ว ค ร า ว


“การละภาวะที่มีสังขารเป็นนิมิตด้วยโคตรภูญาณนี้ ชื่อว่า ตทังคปหาน (ละชั่วคราว)” ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ หน้า ๔๓


ตั ว ข อ ง เ ร า จ ะ เ ข้ า นิ พ พ า น ไ ด้ ห รื อ ไ ม่ ?


คำตอบคือ “ได้” โดยจะต้องตั้งใจเจริญภาวนาไปจนเข้าถึงโคตรภูญาณ เป็นโคตรภูบุคคล จากนั้นฝึกต่อไปจนเข้าถึงภาวะความเป็นอริยบุคคลที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ก็จะเห็นอริยสัจจ์ และทำนิพพานให้แจ้งได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ในที่สุดก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งไม่ยากจนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้ เพราะถ้ายากเกินไปแล้ว คงไม่มีพระอรหันต์เป็นล้านๆ รูปในสมัยพุทธกาล ถ้านิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปได้พระองค์เดียว คนอื่นไปไม่ได้เลย ก็จะบอกว่ายาก แต่จริงๆ แล้วมีผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ตั้งใจฝึกสมาธิจนเกิดปัญญาเข้านิพพานได้มากมาย แสดงว่าไม่ยากจนเกินไป แต่แน่นอนก็คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่ายเราก็คงเข้าไปตั้งนานแล้ว


เพราะฉะนั้นตั้งใจฝึกตัวเองกันเข้า วันหนึ่งเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ทำได้แล้วเข้านิพพานได้ ตอนนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ แต่ว่ายังไม่ได้ทำต่างหาก อย่าเพิ่งไปกลัว อย่าไปท้อใจเสียก่อนว่าจะทำไม่ได้ ถ้าทำจริงแล้วต้องได้


อ า นิ ส ง ส์ ก า ร ท ำ นิ พ พ า น ใ ห้ แ จ้ ง


๑. ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม


๒. ทำให้จิตไม่โศก


๓. ทำให้จิตปราศจากธุลี


๔. ทำให้จิตเกษม


ฯลฯ


“ไฟใดเสมอด้วยราคะไม่มี โทษใดเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี สุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”  


ขุ. ธ. ๒๕/๒๕/๔๒


จบมงคลที่ ๓๔ ทำนิพพานให้แจ้ง

0 ความคิดเห็น