มงคลชีวิต ข้อที่ 38 จิตเกษม (มงคลชีวิต 38 ประการ) เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จในชีวิต




 ""ผู้ที่ถูกตีตรวนคุมขังอยู่

เมื่อได้รับอิสรภาพหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ

ย่อมมีอิสระเสรี มีความสุขกายสบายใจฉันใด

ผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว

หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย

ก็ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น""

 



ภั ย ข อ ง ม นุ ษ ย์


ทันทีที่เกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อม จะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเล มหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ


๑. ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาคอยดักรุมล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา


ข้างหลัง คือชาติภัย ภัยจากการเกิด


ข้างขวา คือชราภัย ภัยจากความแก่


ข้างซ้าย คือพยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ


ข้างหน้า คือมรณภัย ภัยจากความตาย


ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใครๆ ก็ หลีกเลี่ยงไม่ได้


๒. ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น


- ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน


- ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า


- ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย พิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน ไปลักขโมยโกงเขา เขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษ ก็สารพัดล่ะ


ฯลฯ


ท ำ ไ ม เ ร า จึ ง ต้ อ ง พ บ กั บ ภั ย เ ห ล่ า นี้ ?


การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วย โยคะ แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่


๑. กามโยคะ คือความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะๆ อยากกินอาหารอร่อยๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ นุ่มนวลสวมสบาย อยากเห็น รูปงามๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้แฟนสวยๆ มีสมบัติเยอะๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้


๒. ภวโยคะ คือความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือเมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็พอใจ ยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรืออรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี่เป็นเหมือน เชือกเกลียวที่ ๒


๓. ทิฏฐิโยคะ คือความยึดถือความคิดเห็นที่ผิดๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ ยังไปหลงยึดความเห็นผิดๆ อยู่ สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓


๔. อวิชชาโยคะ คือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจจ์ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔


ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียว ที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร โดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว

จิ ต เ ก ษ ม คื อ อ ะ ไ ร ?


เกษม แปลว่า ปลอดภัย พ้นภัย สิ้นกิเลส มีความสุข


จิตเกษม จึงหมายถึง สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียว ได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสระเสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใดๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง คือผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในนิพพานตลอดเวลา ซึ่งก็ได้แก่พระอรหันต์นั่นเอง


จิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ก็ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น


อ ภิ ญ ญ า ๖


อภิญญา ๖ คือความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผลธรรมดา ได้แก่


๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ ย่อขยายตัวได้ หายตัวได้ ฯลฯ


๒. ทิพยโสต มีหูทิพย์


๓. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร


๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้


๕. จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ) มีตาทิพย์


๖. อาสวักขยญาณ ทำกิเลสให้สิ้นไปได้


ในอภิญญา ๖ นี้ ๕ ข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา ข้อที่ ๖ เป็นโลกุตตรอภิญญา คุณวิเศษเหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่าหรือสั่งสอนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้นๆ แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง


วิ ช ช า ๓


วิชชา ๓ คือความรู้แจ้ง ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งด้วยปัญญา ได้แก่ ญาณ คือความหยั่งรู้ เป็นความรู้พิเศษ เป็นปัญญาอันเกิดจากการทำสมาธิภาวนาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด จะเข้าถึงธรรม บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องเข้าถึงด้วยภาวนามยปัญญานี้เท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสละชีวิตปฏิบัติธรรม จนได้ภาวนามยปัญญา บรรลุวิชชา ๓ นี้ ในวันตรัสรู้ธรรม วิชชา ๓ มีดังนี้


๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือระลึกชาติตัวเองได้


๒. จุตูปปาตญาณ คือตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้


๓. อาสวักขยญาณ คือความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส


วิ ช ช า ๘


วิชชา ๘ คือความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ ๘ อย่าง คือ


๑. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร โดยไตรลักษณ์


๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ ฤทธิ์ทางใจ


๓. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่างๆ ย่อขยายตัวได้ หายตัวได้ ฯลฯ


๔. ทิพยโสต มีหูทิพย์


๕. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตคนอื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร


๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้


๗. ทิพยจักษุ มีตาทิพย์


๘. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำกิเลสให้สิ้นไปได้


ป ฏิ สั ม ภิ ท า ญ า ณ ๔


ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่น ได้แก่


๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ เห็นข้อธรรมใด ก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร


๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม สามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับ เก็บความสำคัญได้หมด


๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ คือแตกฉานเรื่องภาษาทุกภาษา ทั้งภาษาของมนุษย์และสัตว์ สามารถเข้าใจได้


๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดี สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำถามได้แจ่มแจ้ง


การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่างๆ และมีความรู้ พิเศษสุดยอด เจริญรอยตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้


เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว

พบแล้วไม่กำ จะเกิดมาทำอะไร

อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง

ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย

เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม

เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป

เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้

  

คติธรรมของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

(หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ)


จบมงคลที่ ๓๘ จิตเกษม

0 ความคิดเห็น