มงคลชีวิต ข้อที่ 33 เห็นอริยสัจจ์ (มงคลชีวิต 38 ประการ) เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จในชีวิต

 ""เมื่อยังมองไม่เห็นฝั่ง
ผู้ที่ตกอยู่ในทะเลย่อมว่ายวนอยู่ในห้วงทะเลนั้น
โดยไม่รู้จุดหมายฉันใด
เมื่อยังมองไม่เห็นอริยสัจจ์
บุคคลก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์แห่งวัฏฏสงสาร
โดยไม่รู้จบสิ้นฉันนั้น""


 




แ ม่ บ ท ข อ ง ศ า ส น า


ประเทศมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นแม่บทของกฎหมายอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ทุกศาสนาในโลกต่างก็มีหลักธรรมคำสั่งสอนที่เป็น แม่บทของศาสนานั้นๆ


แม่บทของพระพุทธศาสนาก็คือ อริยสัจจ์ ๔


อ ริ ย สั จ จ์ ๔


อริยสัจจ์ สามารถแปลได้หลายความหมาย เช่น


- คือความจริงอันประเสริฐ


- คือความจริงอันทำให้บุคคลผู้เห็นเป็นผู้ประเสริฐ


อริยสัจจ์ ๔ คือความจริงที่มีอยู่คู่โลกแต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือทั้งรู้และเห็นแล้วทรงชี้ให้เราดู ได้แก่


๑. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ


๒. สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์


๓. นิโรธ คือความดับทุกข์


๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์


ถ้าจะเปรียบกับโรค


ทุกข์ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่ป่วยเป็นโรค


สมุทัย ก็เปรียบเหมือน ตัวเชื้อโรค


นิโรธ ก็เปรียบเหมือน สภาพที่หายจากโรค แข็งแรงแล้ว


มรรค ก็เปรียบเหมือน ยารักษาโรคให้หายป่วย


คนทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนคนป่วยแต่ก็ไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ จะแก้ไขรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร


ในมงคลนี้ เราจะมาศึกษากันให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิต ให้รู้กันเลยว่าที่เราทุกข์ๆ กันอยู่ทุกวันนี้น่ะ มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วเราจะได้รีบปฏิบัติ เพื่อให้พ้นทุกข์กันเสียที


อ ริ ย สั จ จ์ ที่ ๑ ทุ ก ข์


ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระพุทธองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อย และมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่


๑. สภาวทุกข์ คือทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมี ทุกข์ชนิดนี้มี ๓ ประการได้แก่


๑.๑ ชาติ การเกิด


๑.๒ ชรา การแก่


๑.๓ มรณะ การตาย


ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา อย่างมากที่สุดก็บอกได้เพียงว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ส่วนการเกิดกลับถือว่าเป็นสุข เป็นพรพิเศษที่พระเจ้าทรงประทานมาจากสรวงสวรรค์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทำสมาธิมามาก ทรงรู้แจ้งโลกด้วยดวงปัญญาอันสว่างไสว และชี้ให้เราเห็นว่า การเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่ต้องขดอยู่ในท้อง พอจะคลอดก็ถูกมดลูกบีบรีดดันออกมา ศีรษะนี่ถูกผนังช่องคลอดบีบจนกระโหลกเบียดซ้อนเข้าหากัน จากหัวกลมๆ กลายเป็นรูปยาวๆ เจ็บแทบขาดใจ เพราะฉะนั้นทันทีที่คลอดออกมาได้ สิ่งแรกที่เด็กทำคือร้องจ้าสุดเสียง เพราะมันเจ็บจริงๆ และการเกิดนี่เองที่เป็นต้นเหตุ เป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆ ทั้งปวง ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไหร่ก็เลิกทุกข์เมื่อนั้น


อีกอย่างหนึ่งที่คนมักเข้าใจไขว้เขวกันก็คือ คิดว่าชราทุกข์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออายุ ๖๐-๗๐ ปี แต่จริงๆ แล้วทันทีที่เราเริ่มเกิด เราก็เริ่มแก่แล้ว ชราทุกข์เริ่มเกิดตั้งแต่ตอนนั้น และค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ในร่างกายเริ่มแก่ตัวไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ขอให้เข้าใจกันเสียใหม่ด้วย


๒. ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร เกิดกับแต่ละคนด้วยระดับที่ต่างกันไป ไม่แน่นอน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง ก็จะสามารถบรรเทาจากทุกข์ชนิดนี้ได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่


๒.๑ โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ความกระวนกระวาย


๒.๒ ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน


๒.๓ ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย


๒.๔ โทมนัสสะ ความน้อยใจ ขึ้งเคียด


๒.๕ อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ ความอาลัยอาวรณ์


๒.๖ อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ จากการ ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก


๒.๗ ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกเศร้าโศกาเมื่อพลัดพรากจากของรัก


๒.๘ ยัมปิจฉัง น ลภติ ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้น


นี่คือผลการวิจัยเรื่องทุกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรคให้เราดูได้อย่างละเอียดชัดเจน


“ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ อริยสัจจ์ คือทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้” สํ. ม. ๑๙/๑๖๖๖/๕๒๙


อ ริ ย สั จ จ์ ที่ ๒ ส มุ ทั ย


สมุทัย คือเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ฝึกสมาธิมาน้อย หาเหตุแห่งความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่างๆ นานา ว่าเป็นการลงโทษ ของพระเจ้าบ้าง ของผีป่าบ้าง ถ้าเป็นจริงละก็ ผีป่าตนนี้คงใจร้ายน่าดู เที่ยวไปรังแกคนโน้นคนนี้ทั้งวันให้เขามีทุกข์ หน้าคงจะหงิกอยู่ทั้งวัน


แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกสมาธิมามาก ใจของพระองค์จึงใสสว่าง เกิดปัญญามองเห็นความจริง อย่างชัดเจนว่า ที่เราทุกข์ๆ กันอยู่นี่ สาเหตุมาจาก ตัณหา คือความทะยานอยาก ที่มีอยู่ในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ


๑. กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุปคืออยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ


๒. ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นนายพล อยากเป็นคุณหญิง ฯลฯ


๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ


มนุษย์เราเกิดมาจากตัณหา ลอยคออยู่ในตัณหา เคยชินกับตัณหา คุ้นเคยกันกับตัณหา จนเห็นตัณหาเป็นเพื่อนสนิท กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ถ้าขาดตัณหาแล้ว เขากลัวว่าจะขาดรสของชีวิตที่เคยได้ เคยอยู่ เคยเป็น แต่ตามความเป็นจริง ตัณหานั้นถ้าเป็นเพื่อนก็คือเพื่อนเทียม ที่คอยหลอกล่อนำทุกข์ มาให้เราแล้วก็ยืนหัวเราะชอบใจ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญ ทรงแยกแยะสาเหตุของโรค สาเหตุของทุกข์ ให้เราเห็นว่ามาจากอะไร เชื้อโรคชนิดไหน กิเลสชนิดใด


“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ อริยสัจจ์ คือทุกขสมุทัย อันเราพึงละ” สํ. ม. ๑๙/๑๖๖๗/๕๒๙


อ ริ ย สั จ จ์ ที่ ๓ นิ โ ร ธ


นิโรธ คือความดับทุกข์ หมายถึง สภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง ทำให้หมดตัณหาจึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีความสุขล้วนๆ


ผู้ที่ฝึกสมาธิมาน้อย หรือปฏิบัติไม่ถูกทาง ยังเข้าไม่ถึงนิพพาน จึงไม่รู้จักความหมดทุกข์ที่แท้จริง ก็มักเข้าใจกันว่า การได้เสวยสุขอยู่บนสวรรค์นั้น คือความหมดทุกข์ แต่แท้ที่จริงนั้น ต่อให้ได้ขึ้นสวรรค์ เป็นเทวดานางฟ้าจริงๆ ก็ยังวนเวียนอยู่แค่ในกามภพเท่านั้น สูงกว่าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ยังมีรูปพรหมอีก ๑๖ ชั้น อรูปพรหมอีก ๔ ชั้น ซึ่งก็ยังไม่หมดทุกข์ จะหมดทุกข์จริงๆ ต้องฝึกจนกระทั่งหมดตัณหา ดับความทะยานอยากต่างๆ โดยสิ้นเชิง หมดกิเลสเข้านิพพานเท่านั้น


“ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ อริยสัจจ์ คือทุกขนิโรธ อันเราพึงทำให้แจ้ง” สํ. ม. ๑๙/๑๖๖๘/๕๓๐


อ ริ ย สั จ จ์ ที่ ๔ ม ร ร ค


มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ศาสนาฝ่ายเทวนิยมมองเหตุแห่งทุกข์ไม่ออก จึงยกให้เป็นการลงโทษของสิ่งลึกลับ ของพระเจ้า ดังนั้นจึงหาวิธีพ้นทุกข์ผิดทาง ไปอ้อนวอนบวงสรวงให้พระเจ้าช่วย ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับว่า เราป่วยเป็นไข้มาเลเรีย แล้วมีคนมาบอกเราว่า ที่เราเป็นอย่างนี้เพราะมีผีจากป่าจากเขามาลงโทษเรา แล้วก็แนะให้เราเซ่นไหว้อ้อนวอนกับผีสางเหล่านั้น เพื่อให้เราหายโรค ซึ่งความจริงการทำอย่างนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์เลย


แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญ เห็นเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกิดทุกข์ชัดเจน แล้วก็ทรงสอนเราว่า ที่เราป่วยเราทุกข์ก็เพราะเจ้าตัณหาซึ่งเปรียบเหมือนเชื้อโรคนี่เอง ถ้าต้องการหายจากโรคก็ต้องกำจัดเจ้าเชื้อโรคนั้นให้หมดไป โดยพระองค์ทรงมอบยาดีไว้ให้เราใช้กำจัดเชื้อโรคนั้นด้วย ซึ่งก็คือ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่ง ปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่


๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้น คือความเห็นถูกต่างๆ เช่น เห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์


๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือคิดออกจากกาม คิดไม่ผูก พยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน


๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น


๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม


๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือเลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก


๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือเพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น


๗. สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมอยู่เสมอ


๘. สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือมีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุฌานขั้นต่างๆ ไปตามลำดับ จากสมาธิที่เป็นระดับโลกียะ ไปสู่สมาธิที่เป็นระดับโลกุตตระ


มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้


ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ


สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ


ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ


มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะเป็นไปได้ขณะใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ทำให้เห็นอริยสัจจ์ได้อย่างชัดเจนและพ้นทุกข์ได้ เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล ไม่ต้องไปวิงวอนพระเจ้าหรือใครๆ


“ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ อริยสัจจ์ คือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ” สํ. ม. ๑๙/๑๖๖๙/๕๓๐


ก า ร เ ห็ น อ ริ ย สั จ จ์


อ่านอริยสัจจ์มาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่าทุกข์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรคมีองค์ ๘ จำได้หมด แต่นี่ยังไม่เรียกว่าเห็นอริยสัจจ์ เป็นแต่เพียงท่องจำอริยสัจจ์ได้เท่านั้น


การเห็นอริยสัจจ์แต่ละข้อ จะต้องเห็นถึง ๓ รอบ รวม ๔ อริยสัจจ์ เท่ากับ เห็นถึง ๑๒ ครั้ง เราเรียก รอบ ๓ อาการ ๑๒ ของอริยสัจจ์


การเห็นอริยสัจจ์แปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือเมื่อเห็นแล้วจะสามารถทำได้ด้วย เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ว่า คือตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหาควรละ และก็ละตัณหาได้ด้วย เป็นการเห็นที่บริบูรณ์จริงๆ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนการรู้เรื่องยา จะเป็นความรู้ที่บริบูรณ์ ก็ต้องรู้อย่างนี้ คือ


รู้ว่า นี่เป็นยา


รู้ว่า ยานี้ควรกิน


รู้ว่า ยานี้เราได้กินแล้ว


การเห็นอริยสัจจ์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็จะเห็นหมด เช่น เมื่อเห็นทุกข์ก็จะเห็นสมุทัย นิโรธ มรรค ด้วย เห็นสมุทัย ก็จะเห็นทุกข์ นิโรธ มรรค ด้วย


จะเห็นพร้อมกันทั้งหมด เพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตาหรือการนึกคิดเห็นธรรมดา แต่เป็นการเห็นด้วยธรรมจักษุ


อริยสัจจ์ ๔ ข้อ


- ทุกข์


- สมุทัย


- นิโรธ


- มรรค


เห็นรอบที่ ๑ ว่า


อุปาทาน ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์


ตัณหาเป็นเหตุเกิดทุกข์


ความสิ้นตัณหาเป็นนิโรธ


มรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์


เห็นรอบที่ ๒ ว่า


ทุกข์ควรกำหนดรู้


ตัณหาควรละ


นิโรธควรทำให้แจ้ง


มรรคมีองค์ ๘ ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์


เห็นรอบที่ ๓ ว่า


ทุกข์ (เรา) ได้รู้แล้ว


ตัณหา (เรา) ได้ละแล้ว


นิโรธ (เรา) ได้ทำให้แจ้งแล้ว


มรรคมีองค์ ๘ (เรา) ได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์แล้ว


ผู้ ที่ ส า ม า ร ถ เ ห็ น อ ริ ย สั จ จ์ ไ ด้


คนทั้งหลายอาจแบ่งตามคุณความดีในตัวได้เป็น ๓ ระดับ คือ


๑. ปุถุชน หมายถึง ผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ได้แก่ คนทั่วไปทั้งหลาย ซึ่งก็มีดีบ้างเลวบ้างคละกันไป แม้ในคนเดียวกัน บางครั้งก็ทำดี บางทีก็ทำชั่ว


๒. โคตรภูบุคคล หมายถึงบุคคลผู้กำลังเปลี่ยนโคตร คือเปลี่ยนจากปุถุโคตรเป็นอริยโคตร ได้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงโคตรภูญาณแล้ว มีกิเลสเบาบางลง เป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนเท้าซ้ายเหยียบบนโลก เท้าขวาเหยียบบนนิพพาน ถ้าตั้งใจเจริญภาวนาต่อไปก็จะขจัดกิเลสได้เป็นขั้นๆ ไปตามลำดับ เข้าถึงภูมิธรรมที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น กลายเป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้าโคตรภูบุคคลท้อถอยในการทำความดี ไม่หมั่นเจริญภาวนาต่อไป ก็จะถอยหลังกลับมาเป็นปุถุชน เป็นผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลสอีกเช่นเดิม


๓. พระอริยบุคคล หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งสามารถกำจัดกิเลสต่างๆ ออกได้ไปตามลำดับจนหมดไปในที่สุด มีใจตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีอย่างแน่นแฟ้น ยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งไม่เปลี่ยนแปลง จะไม่ถอยหลังกลับมาเป็นปุถุชนทำความชั่วอีกอย่างเด็ดขาด เป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปแน่นอน แบ่งออกได้เป็น ๔ ระดับ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์


ผู้ที่จะสามารถเห็นอริยสัจจ์ได้คือ ตั้งแต่โคตรภูบุคคลที่เข้าถึงโคตรภูญาณจนชำนาญแล้ว ไปจนถึงพระอริยบุคคลทุกระดับ


อ า นิ ส ง ส์ ก า ร เ ห็ น อ ริ ย สั จ จ์


การเห็นอริยสัจจ์ ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเนื้อของมนุษย์ จะเห็นได้ด้วยธรรมจักษุเท่านั้น เมื่อเราเห็นอริยสัจจ์ด้วยธรรมจักษุแล้ว เราก็จะเข้าใจถึงความเป็นไปอันแท้จริงของโลกและชีวิตว่ามีแต่ทุกข์ ที่ว่า สุขๆ กันนั้น แท้ที่จริงก็คือ ช่วงขณะที่ความทุกข์น้อยลงนั่นเอง เราจะเข้าใจถึงคุณค่าของบุญกุศล อันตรายความน่าขยะแขยงของบาป เป็นความเข้าใจที่เข้าไปในใจจริงๆ


เวลามีความทุกข์หรือไปทำอะไรไม่ดีเข้า ก็จะเห็นเลยว่า บาปเกิดขึ้นที่ใจอย่างไร เราจะเห็นบาปมาหุ้ม เคลือบ หมัก ดองใจของเราให้ดำมืดไป เหมือนลืมตามองเห็นดวงแก้วกลมใส ที่มีฝุ่นผงละอองมาเคลือบมาจับอย่างนั้น


และเวลาทำความดี ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะเห็นบุญกุศลที่เกิดขึ้นมาชำระล้าง หล่อเลี้ยงใจเราให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส สว่างไสวขึ้น เหมือนมองเห็นดวงแก้ว ที่เอาน้ำชำระล้างแล้ว สะอาดแวววาวใสบริสุทธิ์ขึ้นอย่างนั้น


เมื่อรู้เห็นเข้าใจอย่างนี้แล้ว ย่อมมีใจตั้งมั่นอยู่ในความดี หมั่นบำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ มีใจหยุดนิ่ง ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปัญญาสว่างไสว รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง กิเลสต่างๆ ก็ค่อยๆ ล่อนหลุดไปจากใจ จนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารได้


""เราและพวกท่าน ท่องเที่ยวไปแล้วในชาตินั้นๆ สิ้นระยะกาลนาน เพราะไม่เห็นอริยสัจจ์ ๔ ตามความเป็นจริง อริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้นั้น อันเราและพวกท่านเห็นแล้ว ตัณหาผู้นำไปสู่ภพ อันเราและพวกท่านถอนขึ้นแล้ว รากเหง้าของทุกข์ อันเราและพวกท่านตัดขาดแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี (แก่เราและพวกท่าน)"" 


สํ. ม. ๑๙/๑๖๙๙/๕๔๑


จบมงคลที่ ๓๓ เห็นอริยสัจจ์

0 ความคิดเห็น